Go Back Up

back to blog

STP Marketing คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญกับการตลาดออนไลน์ในปี 2024

MarTech Trends • 14 ส.ค. 2024, 12:06:41 • Written by: Crescendo Lab TH

ติดตามความรู้ในแวดวง Martech จาก Crescendo Lab คลิกเลย!

สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจ ย่อมเข้าใจดีว่าปัจจุบันการทำธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในปี 2024 ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจใดที่ต้องการที่จะอยู่รอด และนำพาให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้จำเป็นต้องมี Framework และเครื่องมือมาช่วย เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาแม้เวลาจะผ่านไป แล้วจะมีเครื่องมืออะไรที่จะทำสิ่งนี้ให้บรรลุเป้าหมายได้?

บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับการทำ STP Marketing และการนำไปประยุกต์ใช้ รับรองว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากเนื้อหาวันนี้แน่นอน ไปดูกันเลย! 

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ👇

มาทำความรู้จักเบื้องต้นกับ STP Marketing

STP Marketing คือกลยุทธ์การตลาดที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation) การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) และการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) เพื่อสร้างสินค้าและวิธีการทำการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น ในยุคดิจิทัลที่การแข่งขันสูงและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว STP Marketing ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และสามารถปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมได้

การแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation) คืออะไร?

การแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามลักษณะเฉพาะ เช่น อายุ เพศ รายได้ หรือพฤติกรรมการซื้อ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น การแบ่งกลุ่มตลาดช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างแม่นยำ

การกำหนดลูกค้าเป้าหมาย (Targeting) คืออะไร?

การเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูงสุดในการสร้างรายได้และความสำเร็จให้กับธุรกิจ จากกลุ่มลูกค้าที่ได้แบ่งออกมาในขั้นตอน Segmentation การกำหนดลูกค้าเป้าหมายช่วยให้ธุรกิจสามารถมุ่งเน้นการตลาดและทรัพยากรไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสสูงสุดในการเปลี่ยนเป็นลูกค้าจริง

การวางตำแหน่งสินค้า (Positioning) คืออะไร?

การวางตำแหน่งสินค้าเป็นวิธีการที่มุ่งเน้นการกำหนดตำแหน่งของสินค้าหรือบริการที่เรามี ให้ถูกต้องตรงกับสิ่งที่ลูกค้าเป้าหมายต้องการ ยกตัวอย่างเช่นว่า หากเรามีสินค้าคือกระเป๋าแบรนด์เนม เราก็ต้องเน้นการสร้างจุดยืนที่ส่งผลต่อความรู้สึกหรืออารมณ์ของลูกค้า เช่น ความรู้สึกภาคภูมิใจ ความสุข หรืออารมณ์ร่วมกับสินค้า การวางตำแหน่งสินค้าเป็นขั้นตอนทางการตลาดที่สำคัญที่ช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างจุดยืนในตลาดมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้าของเราได้

เราได้ประโยชน์อะไรจากการรู้จัก STP

จากความหมายที่เราได้อธิบายไปทั้ง Segmentation, Targeting, และ Positioning โดยทั้ง 3 อย่างเมื่อนำทุกอย่างมาใช้ร่วมกันก็จะเป็นเครื่องมือ STP Marketing ซึ่งเราต้องนำทั้ง 3 มาใช้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยต้องเริ่มจากการวิเคราะห์แบ่งกลุ่มตลาดอย่างละเอียด (S)  จากนั้นเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงสุด (T) และสุดท้ายกำหนดตำแหน่งสินค้าที่ชัดเจนเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย (P)

การทำ STP Marketing อย่างเป็นระบบจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยสรุปแล้วเราจะได้ประโยชน์ที่สำคัญหลัก ๆ 3 ข้อดังนี้

  1. เมื่อเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร มีความต้องการและพฤติกรรมอย่างไร เราก็สามารถเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารและสร้างเนื้อหาที่ตรงใจพวกเขาได้
  2. เราสามารถจัดสรรงบประมาณการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรู้ว่าควรเน้นลงทุนกับกลุ่มเป้าหมายใด
  3. เราก็จะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สิ้นเปลืองไปกับการลงทุนที่ไม่สร้างผลตอบแทนที่ไม่ดีพอ

นำ STP Marketing ไปใช้ในธุรกิจได้อย่างไร

วิธีใช้งานของ STP Marketing ประกอบด้วยสามขั้นตอนหลัก ได้แก่ การแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation) การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) และการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) ซึ่งแต่ละขั้นตอนเราจะลงลึงในหัวข้อนี้

การแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation)

การแบ่งกลุ่มตลาดคือการแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามลักษณะที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแบ่งกลุ่มตลาดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ประชากรศาสตร์ (Demographics) : อายุ, เพศ, รายได้, การศึกษา
  • จิตวิทยา (Psychographics) : ไลฟ์สไตล์, ค่านิยม, บุคลิกภาพ
  • ภูมิศาสตร์ (Geographic) : ที่ตั้ง, ภูมิภาค, สภาพอากาศ
  • พฤติกรรม (Behavioral) : ความถี่ในการซื้อ, ความภักดีต่อแบรนด์, การใช้สินค้า

การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting)

หลังจากแบ่งกลุ่มตลาดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูงสุดในการสร้างรายได้และความสำเร็จให้กับธุรกิจ หลักการในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย มีประเภทของกลยุทธ์การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะแนะนำจะมีดังนี้

การตลาดแบบไม่แตกต่าง (Undifferentiated Marketing)

โดยเราจะมองว่าตลาดทั้งหมดเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยไม่แบ่งแยกกลุ่มลูกค้า สินค้าและการตลาดจะเหมือนกันสำหรับทุกคน เหมาะสำหรับสินค้าที่มีการบริโภคทั่วไป เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำอัดลม

การตลาดแบบแตกต่าง (Differentiated Marketing)

เป็นการตลาดที่แบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นหลายกลุ่ม และพัฒนาสินค้าและการตลาดที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่ม เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีรถยนต์หลายรุ่นสำหรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน

การตลาดแบบเฉพาะส่วน (Concentrated Marketing)

ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มเดียว โดยใช้ทรัพยากรทั้งหมดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดสำหรับกลุ่มนั้น เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดี

การตลาดแบบปรับแต่งเฉพาะบุคคล (Micromarketing)

การตลาดที่เน้นไปที่ลูกค้าแต่ละบุคคล โดยปรับแต่งสินค้าและการตลาดให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของลูกค้า เหมาะสำหรับธุรกิจที่ให้บริการเฉพาะบุคคลหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น Software House ที่จะรับสร้างระบบให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นต้น

การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning)

การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) เป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการ STP Marketing เมื่อเราได้รู้จักแล้วว่าลูกค้าเราคือใคร มีความต้องการอย่างไร จาก 2 ขั้นตอนที่ได้เขียนไปข้างต้น ขั้นตอนที่ 3 การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ คือการกำหนดตำแหน่งที่ต้องการให้สินค้าหรือบริการของธุรกิจตรงกับความต้องการของลูกค้า การวางตำแหน่งที่ดีจะช่วยให้ลูกค้ารับรู้ถึงความแตกต่างและคุณค่าที่ธุรกิจนำเสนอ โดยมีหลากหลายวิธีที่เราจะสามารถทำได้ แต่จะขอยกตัวอย่างที่นิยมใช้กันคือ

1. การวางตำแหน่งตามคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์

  • เน้นคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ เช่น คุณภาพ ความคงทน หรือการออกแบบ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ Volvo ที่เน้นความปลอดภัย หรือโทรศัพท์มือถือ Apple ที่เน้นการออกแบบที่ทันสมัยและเทคโนโลยีล้ำหน้า

2. การวางตำแหน่งตามประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับ

  • เน้นประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น ความสะดวกสบาย หรือความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เน้นความสะดวกในการใช้งาน หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เน้นประโยชน์ต่อสุขภาพ

3. การวางตำแหน่งตามราคา

  • เน้นราคาที่แข่งขันได้หรือราคาที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นสินค้าราคาถูก หรือแบรนด์เสื้อผ้าที่เน้นราคาย่อมเยา เช่น ความน่าเชื่อถือ หรือความหรูหรา

4. การวางตำแหน่งตามภาพลักษณ์แบรนด์

  • เน้นภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ เช่น ความน่าเชื่อถือ หรือความหรูหรา ตัวอย่างเช่น นาฬิกา Rolex ที่เน้นความหรูหราและความเป็นผู้นำ หรือแบรนด์เครื่องสำอางที่เน้นความงามและความเป็นธรรมชาติของส่วนผสมที่ใช้

5. การวางตำแหน่งตามผู้ใช้

  • เน้นกลุ่มผู้ใช้เฉพาะ เช่น ผู้ใช้ที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย หรือผู้ใช้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬา ที่ต้องการ Function ที่เพิ่มสมรรถภาพในการใช้งาน

เมื่อเรารู้จัก STP แล้วจะทำอย่างไรในขั้นต่อไป?

stp-graphic

หลังจากที่เราได้วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ตามวิธีการของ STP แล้ว เราจะมาอธิบายต่อว่า ข้อมูลทุกอย่างที่ได้มา เราจะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง มันมีประโยชน์อย่างไร

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)

เราสามารถใช้ข้อมูลจากการแบ่งกลุ่มตลาดและการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เช่น การปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจ

การสร้างกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy)

การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์จะช่วยกำหนดทิศทางและข้อความหลักที่ใช้ในการสื่อสารการตลาด คุณสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการสร้างแคมเปญโฆษณาที่ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเลือกช่องทางการโฆษณาที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานบ่อย

การเลือกช่องทางการจัดจำหน่าย

การรู้จักกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้คุณเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม เช่น การขายผ่านออนไลน์, ร้านค้าปลีก, หรือการขายตรง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

การกำหนดราคา (Pricing Strategy)

การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์จะช่วยให้คุณกำหนดราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ในตลาด เช่น การตั้งราคาสูงสำหรับสินค้าระดับพรีเมียม หรือการตั้งราคาต่ำเพื่อเจาะตลาดมวลชน

การพัฒนาการสื่อสารกับลูกค้า

ใช้ข้อมูลจากการแบ่งกลุ่มตลาดและการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการสร้างเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจและความต้องการของลูกค้า เช่น การส่งอีเมลที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจง, การโพสต์ในโซเชียลมีเดียที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

การวัดผลและปรับปรุง

ตรวจสอบและวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการนำกลยุทธ์ไปใช้ เช่น การวัดยอดขาย (Conversion), การวัดความพึงพอใจของลูกค้า, และการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของกลยุทธ์การตลาดต่อไป

กรณีศึกษาตัวอย่าง STP Marketing ในธุรกิจจริง

Texas Chicken0531_Blog_TexasChicken_cover

กรณีศึกษาของ Texas Chicken ผ่านแคมเปญ #ไก่ทอดโลกจำ ที่พัฒนาโดย SO IDEA และ Crescendo Lab เป็นการนำกลยุทธ์ STP มาใช้ในแคมเปญนี้ ช่วยให้ Texas Chicken สามารถเพิ่มยอดขายและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

การแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation) :

Texas Chicken ได้แบ่งกลุ่มตลาดโดยใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม MAAC ของ Crescendo Lab ซึ่งช่วยในการติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า โดยมีการใช้ Deeplink เพื่อระบุแหล่งที่มาของลูกค้า ทั้งจากช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถระบุและแบ่งกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจสูงได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) :

Texas Chicken มุ่งเน้นการดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเก่าผ่านการใช้ LINE Official Account (LINE OA) เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ โดยใช้แคมเปญที่สร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมผ่านเกม PAPRIKA Lucky Wheel และการแจกคูปองส่วนลดพิเศษ ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนเพื่อน หรือผู้ติดตามใน LINE OA ได้อย่างมีนัยสำคัญ

การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) :

Texas Chicken วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของตนในฐานะแบรนด์ไก่ทอดที่มีความครีเอทีฟและใกล้ชิดกับลูกค้า โดยใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-Channel ที่ผสานการใช้ Social Media และ Marketing Automation เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและครอบคลุมให้แก่ลูกค้า ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม MAAC และการจัดการข้อมูลลูกค้าผ่าน LINE OA ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ โดยตัวอย่าง แคมเปญ #ไก่ทอดโลกจำ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของลูกค้าในการเล่นเกม PAPRIKA Lucky Wheel ซึ่งสร้างความสนุกสนานและความผูกพันกับแบรนด์ Crescendo Lab ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Case Study ของ Texas Chicken ไว้แนะนำให้ทุกคนเข้าไปอ่านกันได้ที่บทความ วิธีเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของ Texas Chicken ผ่านแคมเปญสุดมันโดย SO IDEA กับ Crescendo Lab

Apple

การแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation) :

Apple ใช้การแบ่งกลุ่มตลาดตามพฤติกรรม (Behavioral) และจิตวิทยา (Psychographic) โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์, ชื่นชอบเทคโนโลยีล้ำหน้า, และมีรายได้สูง

การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) :

Apple มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นมืออาชีพ, นักออกแบบ, นักเรียน, และกลุ่มที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและการออกแบบที่สวยงาม

การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) :

Apple วางตำแหน่งตัวเองเป็นแบรนด์พรีเมียมที่มอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง, เทคโนโลยีล้ำหน้า, และการออกแบบที่สวยงาม โดยเน้นการสร้างความรู้สึกพิเศษและเอกสิทธิ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์

แนะนำเครื่องมืออะไรในการทำ STP Marketing

stp-3

สำหรับในประเทศไทยเรียกได้ว่า Application Chat ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ LINE ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุก ๆ ธุรกิจที่ประกอบกิจการในประเทศไทย และต้องการที่จะสื่อสารกับลูกค้าจะต้องมี LINE OA กันทุกองค์กร โดย LINE OA นอกจากจะเป็นเครื่องมือสื่อสารแล้ว เราสามารถนำ LINE OA มาใช้ในการทำ STP ได้อีกด้วยเช่นกัน

โดยเครื่องมือ LINE CRM ซึ่งก็คือระบบการจัดการข้อมูลลูกค้า (CRM) ผ่านแพลตฟอร์ม LINE โดยระบบนี้จะเชื่อมต่อกับ LINE OA ที่มีอยู่ของธุรกิจ เพื่อจัดเก็บบันทึกข้อมูล การสั่งซื้อ และข้อมูลอื่น ๆ ของลูกค้าที่ทางธุรกิจสามารถนำมาต่อยอดได้ โดยระบบนี้เรียกว่า MAAC เป็นหนึ่งในโซลูชันของ Crescendo Lab

ก่อนที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ของ Crescendo Lab ที่จะมาเป็นเครื่องมือในการนำ STP Marketing  ไปใช้ได้จริง เราจะทุกคนไปดูว่าการนำ LINE OA ไปใช้กับ STP แต่ละขั้นตอนมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

ขั้นตอน : Segmentation

LINE CRM ช่วยให้ธุรกิจสามารถเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างละเอียด เช่น การสร้างแบบฟอร์มลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลความสนใจของลูกค้า เพื่อที่เราจะนำข้อมูลไปแบ่งกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมและความสนใจ

ขั้นตอน : Targeting

หลังจากแบ่งกลุ่มลูกค้าแล้ว ธุรกิจสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงสุดในการทำการตลาด เช่น การส่งข้อความโปรโมชันเฉพาะกลุ่มที่สนใจสินค้าประเภทเดียวกัน หรือการให้สิทธิพิเศษกับสมาชิกระดับพรีเมียมหรือวีไอพี

ตัวอย่างขั้นตอน : Positioning

LINE CRM ช่วยให้ธุรกิจสามารถสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น การส่งข้อความที่ตรงกับความสนใจของลูกค้าด้วยฟีเจอร์ AI (AI-Smart Recommendation) การใช้ระบบสะสมแต้มเพื่อสร้างความภักดี และการใช้ฟีเจอร์ Personalization เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ โดยเราได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับ (Personalized Marketing) หากต้องการลงลึกสามารถไปอ่านเพิ่มเติมกันได้

LINE CRM (MAAC) ของ Crescendo Lab จะช่วยทำ STP Marketing อย่างไร?

23_LINE CRM-2

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ LINE CRM (MAAC) ว่าคืออะไร โดยเครื่องมือ MAAC ของเรา เป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลลูกค้า หรือ CRM ที่สามารถเชื่อมต่อเพื่อใช้งานร่วมกับ LINE Official Account ของธุรกิจ โดยจะช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฟีเจอร์ที่โดดเด่นของโซลูชัน MAAC ไม่ว่าจะเป็น การเก็บสะสมแต้ม ช่วยให้ลูกค้าสามารถสะสมแต้มและรับสิทธิพิเศษตามระดับสมาชิก ฟีเจอร์จัดหมวดหมู่ลูกค้าสมาชิกตามระดับการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ โดยเรียงจากมากไปน้อย การสร้างแบบสอบถามความพึงพอใจออนไลน์ด้วย SurveyCake ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าและแยกกลุ่มความสนใจได้อย่างละเอียด ฟีเจอร์ตั้งทริกเกอร์และเวลาเพื่อส่งข้อความอัตโนมัติด้วย AI-Smart Customer Journey ช่วยให้ธุรกิจสามารถตั้งค่าการส่งข้อความอัตโนมัติผ่าน Workflows Automation เป็นต้น เราจะขอยกตัวอย่างแต่ละขั้นตอนของ STP ว่าการนำเครื่องมือ LINE CRM (MAAC) ไปใช้จะสามารถใช้ได้อย่างไร

ตัวอย่างการนำ MAAC ไปใช้

  • ระบบ LINE CRM (MAAC) จะมี AI Smart Segmentation ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า และสามารถแบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมและความสนใจอย่างแม่นยำ ช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุและจัดกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้าสูงได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการแบ่งกลุ่มตลาด (Segmentation) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • เมื่อทำการวิเคราะห์ STP แล้ว คุณสามารถใช้ฟีเจอร์ Auto-tagging ของ MAAC เพื่อจัดเก็บข้อมูลและจัดหมวดหมู่ประเภทของลูกค้า เพื่อเลือกส่งข้อความและโปรโมชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทำให้การสื่อสารมีความเฉพาะเจาะจงหรือมีความ personalized มากยิ่งขึ้น โดยผ่านโซลูชันของ MAAC
  • เครื่องมือ MAAC จะมีฟีเจอร์คูปองและโปรโมชันที่ปรับแต่งตามความสนใจเฉพาะกลุ่มของลูกค้า เพื่อให้คุณสามารถสร้าง Customer Engagement ได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ หรือระบบ สะสมแต้มและสิทธิพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความภักดี สามารถช่วยรักษาฐานลูกค้าด้วยในระยะยาวได้

บทสรุป

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ STP Marketing และการนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจแล้ว เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังมองหากลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพในปี 2024 การนำ STP Marketing มาปรับใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้คุณสามารถเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และวางตำแหน่งแบรนด์ได้ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างการเติบโตและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้าในระยะยาว ขอให้ทุกคนโชคดีและประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า!

Written by Sirichok Maneechot

สนใจเพิ่มยอดขายธุรกิจของคุณบน LINE OA ปรึกษาฟรี!

 

 

Crescendo Lab TH

The editing group of Crescendo Lab Thailand