E-commerce คือ? เข้าใจความหมาย พร้อมรู้วิธีสร้างกำไรเอาชนะคู่แข่ง
MarTech Trends • 24 พ.ค. 2024, 13:40:17 • Written by: Ainee S.
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ 👇
- E-commerce คืออะไร?
- E-commerce มีประโยชน์ต่อแบรนด์อย่างไร?
- ความท้าทายของธุรกิจ E-commerce
- E-commerce 6 ประเภท มีอะไรบ้าง?
- ช่องทางขายของบน E-commerce มีอะไรบ้าง?
- ขายของบน E-commerce ยังไงให้ยอดขายปัง?
- ทำไมธุรกิจ E-commerce ควรเชื่อมต่อกับ LINE ?
ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น E-commerce หรือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นช่องทางการซื้อขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะว่า E-commerce เปรียบเสมือนตลาดที่เราไปเพื่อจับจ่ายใช้สอยของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ต่างกันตรงที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายๆ ด้วยเพียงแค่ปลายนิ้ว
รับรองว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจ E-commerce มากขึ้น ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ประเภทและช่องทางของ E-commerce มีอะไรบ้าง รวมถึงวิธีขายบนแพลตฟอร์มนี้ให้ยอดขายพุ่ง
E-commerce คืออะไร?
E-commerce, พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, หรือ อีคอมเมิร์ซ คือ การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์บนอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องพึ่งพาหน้าร้านแบกบดั้งเดิม พูดให้เห็นภาพ ก็คือการซื้อขายออนไลน์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ นั่นเอง
E-commerce ยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้แก่ Amazon, Alibaba, eBay, และ Shopee ส่วนในประเทศไทยนั้นคุณอาจคุ้นเคยกับแพลตฟอร์ม E-commerce ยอดนิยมอย่าง Shopee และ Lazada
จากข้อมูลของ Priceza มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 14% ในปี 2567 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 9.32 แสนล้านบาท นั่นยิ่งย้ำว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมขายของออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นทุกวัน
ข้อมูลจาก: ประชาชาติธุรกิจ
E-commerce มีประโยชน์ต่อแบรนด์อย่างไร?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่มีเพียงหน้าร้าน (ออฟไลน์) อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายจากการสั่งของออนไลน์ หลายแบรนด์จึงเริ่มหันมาทำ E-commerce เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโต มาดูกันว่าการขายผ่านช่องทางนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
1. ประหยัดต้นทุน
แน่นอนว่าการขายของผ่าน E-commerce มีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการขายหน้าร้านที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าหน้าร้าน ค่าตกแต่งร้าน ค่าพนักงานขาย ฯลฯ การขายออนไลน์จึงช่วยให้ร้านค้ารายย่อยที่เงินทุนน้อยสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ในงบที่จำกัด
2. เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วโลก
E-commerce เป็นส่วนสำคัญในการสร้างการค้าไร้พรมแดน ทำให้ธุรกิจออนไลน์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ไม่จำกัดการขายเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตลูกค้าจากทั่วโลกก็สามารถสั่งสินค้าจากแบรนด์คุณได้
3. ขายได้ 24 ชั่วไมง ไม่มีวันหยุด
การขายของออนไลน์นั้นเปิดบริการ 24 ชั่วโมงทุกวัน ไม่มีวันหยุด ลูกค้าจึงสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการโดยไม่ต้องรอเวลาเปิดทำการ ทำให้ธุรกิจไม่เสียโอกาสค้าขายแม้จะติดช่วงวันหยุดยาวก็ตาม แบรนด์ควรใช้ระบบบริการลูกค้าอย่าง CAAC จาก Crescendo Lab เป็นตัวช่วยในการมอบหมายข้อสงสัยของลูกค้าให้มีแอดมินพร้อมตอบข้อสงสัยลูกค้าแบบมืออาชีพตลอดเวลา
4. เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าได้ง่าย
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่มาพร้อมกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ช่วยให้แบรนด์ทำความเข้าใจพฤติกรรม การซื้อสินค้า และความต้องการของลูกค้าได้อย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตรงจุด ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายทำให้ยอดขายธุรกิจเติบโต
5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
นอกจากระบบวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า แบรนด์ยังสามารถใช้ฟีเจอร์มากมายในระบบหลังบ้าน E-commerce เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เช่น live chat เพื่อโต้ตอบกับลูกค้าเมื่อมีปัญหา หรือฟีเจอร์แท็ก เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดเป็นระบบแนะนำสินค้าแบบ personalized
6. ระบบจัดการสต็อกสินค้าใช้งานง่าย
ระบบจัดการสต็อกสินค้าเป็นอีกหนึ่งประโยชน์สำคัญที่แบรนด์จะได้รับจากการทำ E-commerce ทำให้ธุรกิจสามารถติดตามจำนวนสินค้าที่มีในสต็อกได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และยังช่วยป้องกันปัญหาสินค้าขาดสต็อกอีกด้วย
ความท้าทายของธุรกิจ E-commerce
แม้ E-commerce จะมีประโยชน์ต่อธุรกิจมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความท้าทายหลายด้านที่แบรนด์ควรรู้ไว้เพื่อเตรียมตัวรับมือ
1. การแข่งขันสูง
การแข่งขันอันดุเดือดเป็นความท้าทายแรกที่ร้านค้าต้องเผชิญ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องสู้กับแบรนด์ใหญ่ นั่นเป็นเพราะว่าแบรนด์ชั้นนำหลายรายหันมาใช้กลยุทธ์ D2C (Direct-to-Consumer) เพื่อขายสินค้าให้ลูกค้าผ่านเว็บไซต์และเปิดร้านค้าในแพลตฟอร์ม E-commerce เองโดยตรง ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น
2. ความปลอดภัยด้านข้อมูล
ข้อมูลลูกค้าที่ถูกจัดเก็บในระบบ E-commerce เป็นหนึ่งในเรื่องที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะข้อมูลลูกค้า เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรเครดิต ล้วนเป็นเป้าหมายของเหล่ามิจฉาชีพ แบรนด์จึงต้องศึกษาวิธีป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
3. ค่าซื้อโฆษณาและค่าธรรมเนียมสูง
การซื้อโฆษณาเป็นวิธียอดนิยมที่หลายแบรนด์ใช้เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ให้รู้จักแบรนด์มากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการโฆษณานั้นนับวันยิ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่ๆ อาจเก็บค่าธรรมเนียมการขายของเป็นเปอร์เซนต์ต่ำในช่วงแรก แต่เมื่อมีฐานลูกค้ามากขึ้น ค่าธรรมเนียมมักจะเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อกำไรที่หดน้อยลงสำหรับธุรกิจรายย่อย
4. ค่าใช้จ่ายด้านขนส่งและคลังสินค้า
ค่าขนส่งและแพ็คกิ้งสินค้าโดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่หรือหนัก เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ธุรกิจ E-commerce เพราะหากไม่มีการคำนวณต้นทุนส่วนนี้ให้ละเอียดรอบคอบ อาจทำให้กำไรลดน้อยลงได้ นอกจากนี้ธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเช่าโกดังเก็บคลังสินค้าเช่นกัน ดังนั้นการวางแผนเรื่องต้นทุนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
5. อัตราการคืนสินค้าสูง
สินค้าที่ขายผ่านอีคอมเมิร์ซมีโอกาสถูกส่งคืนมากกว่าสินค้าที่ขายหน้าร้าน นั่นเป็นเพราะว่าก่อนซื้อสินค้าลูกค้าดูจากเพียงรูปภาพ วิดิโอ ก่อนตัดสินใจซื้อ แต่พอได้รับสินค้าอาจไม่ตรงตามความคาดหวังที่ตั้งไว้ หรือไม่พอใจกับสินค้าที่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องความเสี่ยงระหว่างการขนส่ง ดังนั้นแบรนด์ควรแจ้งนโยบายการคืนสินค้าให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า
6. ปัญหาทางเทคนิค
อีกหนึ่งความท้าทายที่เหนือการควบคุม คือ ปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เว็บไซต์ล่ม ระบบชำระเงินมีปัญหา โดยเฉพาะวันที่มีการจัดแคมเปญหรือโปรโมชันพิเศษช่วงเทศกาลสำคัญหรือ Double Date กรณีนี้อาจส่งผลต่อการใช้งานและประสบการณ์ช้อปปิ้งของลูกค้าและสร้างความเสียหายให้ธุรกิจได้
E-commerce 6 ประเภท มีอะไรบ้าง?
1. Business-to-Consumer (B2C): ธุรกิจขายสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภคโดยตรง เป็นประเภทอีคอมเมิร์ซที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านค้าออนไลน์ขายเครื่องสำอางให้กับลูกค้าบน Shopee/ Lazada, ซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ของสายการบิน
2. Business-to-Business (B2B): ธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการกับอีกธุรกิจ เช่น บริษัทขายคอมพิวเตอร์ขายสินค้าให้กับมหาวิทยาลัย, บริษัทยาขายยาให้โรงพยาบาล
3. Consumer-to-Consumer (C2C): ผู้บริโภคที่ขายสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภคด้วยกันโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลาง เช่น ขายของมือสองบน Facebook Marketplace, ประมูลสินค้าบน eBay, รับวาดภาพบน Fastwork
4. Business-to-Government (B2G): ธุรกิจขายสินค้าให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น บริษัทไอทีขายซอฟต์แวร์ให้กับหน่วยงานราชการ บริษัทรับเหมาก่อสร้างรับงานก่อสร้างจากกรมทางหลวง
5. Government-to-Consumer (G2C): ภาครัฐให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ระบบชำระภาษีออนไลน์ของเว็บไซต์สรรพากร, จองคิวตรวจรักษาในโรงพยาบาลรัฐบนเว็บไซต์
6. Government-to-Business (G2B): ภาครัฐให้บริการธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจออนไลน์บนเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ช่องทางขายของบน E-commerce มีอะไรบ้าง?
E-commerce มีช่องทางให้ธุริกิจเลือกขายสินค้าหรือบริการมากมาย มาดูกันว่าทั้ง 3 ช่องทางหลักนั้นมีอะไรบ้าง
1. Website Commerce
เว็บไซต์คอมเมิร์ซ หรือเว็บคอมเมิร์ซ คือ ช่องทางที่แบรนด์ขายสินค้าหรือบริการให้ลูกค้าผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง ช่องทางนี้เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการสร้างแบรนด์ และสร้างฐานลูกค้าประจำระยะยาว
ข้อดีของการทำเว็บคอมเมิร์ซคือ แบรนด์สามารถควบคุมทุกอย่างได้เอง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ตามต้องการ, การกำหนดราคา หรือทำโปรโมชันต่างๆ
แต่ข้อเสียคือ ใช้ต้นทุนค่อนสูง เพราะต้องมีทีมพัฒนาเว็บไซต์ และคอยดูแลระบบ นอกจากนี้ยังต้องคอยทำ SEO เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลลัพธ์
2. Marketplace
Marketplace เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าหรือตลาดออนไลน์ขนาดใหญ่ มีผู้ขายหลายรายที่ขายของหลากหลาย พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือแพตลฟอร์มที่ดึงดูดลูกค้าจำนวนมากให้เลือกซื้อของจากร้านค้ามากมายในที่เดียว ยกตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada
ข้อดีอย่างแรกของมาร์เก็ตเพลสคือ แพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถือและสามารถเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก แบรนด์จึงไม่ต้องเสียเวลาสร้างฐานลูกค้า นอกจากนี้ยังใช้งานง่าย สะดวก มีระบบจัดการสินค้า ชำระเงิน ขนส่ง แม้ว่าร้านค้าออนไลน์ต้องเสียค่าธรรมเนียมการขาย แต่ก็ถือว่าไม่ต้องลงทุนสูง จึงเหมาะกับร้านค้าขนาดเล็ก
ส่วนข้อเสียหลักๆ คือ ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างตามต้องการได้ และต้องปฏิบัติตามกฎของ Marketplace อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจโดนเตือนและระงับการขาย ข้อเสียอีกอย่างคือ การแข่งขันสูงจนสินค้าอาจโดนมองข้าม แบรนด์จึงควรศึกษาเทคนิคที่ให้ร้านค้ามีความโดดเด่นเพื่อเอาชนะคู่แข่ง
3. Social Commerce
Social Commerce คือ การขายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ได้พัฒนาฟีเจอร์เฉพาะสำหรับการช้อปปิ้ง ยกตัวอย่างเช่น Facebook Marketplace, TikTok Shop, LINE Shopping เป็นต้น Social Commerce จึงเหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
ข้อดีคือ เข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้รวดเร็วที่สุดเพราะมีฐานผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว มีค่าใช้จ่ายต่ำจึงเหมาะกับร้านค้าขนาดเล็กที่อยากเริ่มขายของออนไลน์
ส่วนข้อเสียคือ แบรนด์ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลลูกค้าโดยตรง และข้อมูลที่เก็บได้นั้นไม่ใช่ข้อมูลเชิงลึก ทำให้ยากในการวิเคราะห์เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตรงจุด ลูกค้าสามารถทักแชทเพื่อถามร้านค้าได้ง่าย ทำให้แอดมินต้องคอยตอบคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ หรืออาจตกหล่นลูกค้าบางรายไป แบรนด์จึงควรใช้ LINE Official Account เป็นช่องทางหลัก เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มอย่างราบรื่นและสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขายของบน E-commerce ยังไงให้ยอดขายปัง?
แน่นอนว่ายิ่งการแข่งขันของร้านค้าออนไลน์บนโลก E-commerce ยิ่งดุเดือดเท่าไหร่ แบรนด์ยิ่งต้องรู้เทคนิคดึงดูดใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด เคล็ดลับเพิ่มยอดขายบนอีคอมเมิร์ซมีดังนี้
1. Interface ใช้งานง่าย (User-friendly)
ควรใช้ดีไซน์หน้าเว็บไซต์ของแบรนด์หรือเทมเพลตร้านค้าออนไลน์ที่เรียบง่าย จัดหมวดหมู่สินค้าให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้าค้นหาและเลือกซื้อของที่ต้องการได้ง่าย และอย่าลืมทดสอบระบบการใช้งานในมุมมองผู้ใช้ จะได้เพิ่มประสิทธิภาพให้ช่องทาง e-commerce ของแบรนด์ใช้งานง่ายและราบรื่นที่สุด
2. Mobile-friendly Design
เชื่อว่ามือถือเปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ของใครหลายๆ คน คนส่วนใหญ่จึงชอบช้อปปิ้งออนไลน์บนมือถือ ดังนั้นหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ควรออกแบบให้รองรับการดูข้อมูลสินค้าบนมือถือและแท็บเล็ต และทดสอบว่าหน้าเว็บไซต์มีการปรับไปตามขนาดหน้าจอที่แตกต่างกันหรือไม่ เพื่อให้ลูกค้าดูข้อมูลได้ง่ายและช้อปอย่างไม่มีสะดุด
3. ใช้ภาพคมชัด รายละเอียดสินค้าต้องครบถ้วน
ภาพสินค้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ภาพจึงต้องมีคุณภาพ คมชัด สีตรงกับสินค้าจริง ควรถ่ายภาพสินค้าหลายๆ มุม เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพได้อย่างครอบคลุม เช่น แบรนด์ขายกระเป๋า ควรถ่ายทั้งด้านในและด้านนอกของกระเป๋า รวมถึงภาพขณะสะพายกระเป๋า
นอกจากนี้รายเอียดข้อมูลสินค้าต้องครบถ้วน ระบุทั้งขนาด ไซส์ สีของสินค้าที่มี และนโยบายการคืนสินค้าต้องชัดเจน นอกจากจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาที่ร้านค้าต้องคอยตอบคำถามเดิมๆ อีกด้วย
4. ระบบสั่งซื้อที่ราบรื่น
ระบบสั่งซื้อบน e-commerce ต้องคำนวณอย่างถูกต้องแม่นยำตั้งแต่ตอนที่ลูกค้าเลือกสินค้าลงตะกร้า ทั้งราคา จำนวน ส่วนลด ค่าขนส่ง ต้องแจกแจงรายละเอียดอย่างชัดเจน ก่อนที่จะนำลูกค้าไปสู่หน้าชำระเงินต่อไป
5. ช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย
ช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย นอกจากจะกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัญหาทางเทคนิคหากใช้เพียงช่องทางเดียวแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเลือกช่องทางที่จ่ายเงินได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด เช่น จ่ายผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay), บัญชีธนาคาร, บัตรเดบิต/ เครดิต, Digital Wallet เป็นต้น วิธีนี้จึงเพิ่มโอกาสให้ยอดขายโตขึ้นแน่นอน
6. ติดต่อทีมบริการลูกค้าได้ง่าย
การบริการลูกค้าเป็นกุญสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ในกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาเกี่ยวกับสินค้า ควรมีแอดมินหรือทีมบริการลูกค้าโต้ตอบทันที ดังนั้นควรมีช่องทางติดต่อที่หลากหลาย เช่น live chat, อีเมล, หรือเบอร์โทร ฯลฯ เพื่อตอบข้อสงสัยหรือแก้ไขปัญหาลูกค้าได้รวดเร็ว นอกจากนี้แบรนด์ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ควรพิจารณาใช้ระบบ CRM อย่าง CAAC จาก Crescendo Lab เพื่อสร้างศูนย์กลางการติดต่อลูกค้าบน LINE ให้เป็นระบบ และรวบรวมข้อมูลลูกค้าทั้งหมดไว้ในที่เดียว
ทำไมธุรกิจ E-commerce ควรเชื่อมต่อกับ LINE ?
LINE OA เป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้แบบ 1:1 ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้าทุกอย่างบน LINE OA ไม่ว่าจะเป็นแชทสนทนา หรือการคลิก rich menu จึงสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ ทำการตลาดที่แม่นยำ และยังช่วยสร้างยอดขายระยะยาวได้
การเชื่อม E-commerce x LINE จึงจะช่วยทำให้แบรนด์เข้าใจลูกค้าแบบ 360 องศา เพราะมี Open API ที่เชื่อมต่อกับระบบ CRM, CDP และแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงรวบรวมข้อมูลลูกค้าจากเว็บไซต์, LINE, ช่องทางออฟไลน์ และช่องทางอื่นๆ ได้แบบเรียลไทม์
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์การเชื่อม E-commerce กับ LINE คลิกเลย!