Customer Journey คืออะไร มีกี่ขั้นตอน? คิดกลยุทธ์จากมุมลูกค้า
CherryNapat
ติดตาม Crescendo Lab สำหรับสาระน่ารู้ในแวดวง MarTech คลิกเลย!
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ 👇 |
ประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience) เป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจยุคดิจิทัล ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ หรือนักการตลาด นักขายที่กำลังพาธุรกิจเข้าสู่ Digital Transformation หากลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีระหว่างการซื้อขาย อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจของคุณ
มีรายงานจาก Forbes ระบุว่ากว่า 86% ของผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้นหากได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่า ในทางกลับกัน 1 ใน 3 ของลูกค้าเลือกที่จะเลิกซื้อแบรนด์ที่ชื่นชอบหากได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากแบรนด์ การเข้าใจเส้นทางการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อมองเห็นภาพรวม แก้ไขปัญหา และพัฒนาธุรกิจอย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตามลูกค้าในยุคปัจจุบันไม่ได้เข้าหาแบรนด์ด้วยลำดับขั้นตอนที่เป็นเส้นตรงเหมือนในอดีต เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการและมีช่องทางในการหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมากขึ้น บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ Customer Journey รูปแบบใหม่ที่ซับซ้อน พร้อมแนวทางรับมือสำหรับธุรกิจของคุณ
Customer journey คืออะไร
Customer Journey คือกระบวนการที่ลูกค้าผ่านตั้งแต่การรับรู้หรือรู้จักแบรนด์ครั้งแรก ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือใช้บริการ รวมถึงประสบการณ์หลังการซื้อที่อาจนำไปสู่การกลับมาซื้อซ้ำหรือบอกต่อให้ผู้อื่นรู้จักแบรนด์นั้นด้วย
Customer Journey มักถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับปรุงและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประโยชน์และความสำคัญของ Customer Journey
ในยุคที่ Digital Marketing เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกธุรกิจ การเข้าถึงเทคโนโลยีที่สะดวกและรวดเร็ว ทำให้การซื้อขายสินค้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่สร้างความหลากหลายในวิธีที่ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ แต่ยังทำให้การตัดสินใจซื้อของลูกค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น
เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้ามีช่องทางและตัวเลือกมากมายในการค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบสินค้า ซึ่งทำให้ Customer Journey หรือเส้นทางของลูกค้าที่เข้าหาแบรนด์ไม่ใช่เส้นตรงอีกต่อไป แต่เป็นเส้นทางที่มีความซับซ้อนและมีหลายจุดเชื่อมต่อ
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงต้องมั่นใจว่าแบรนด์สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในทุกช่วงของ Customer Journey ตั้งแต่การดึงดูดความสนใจลูกค้าเป้าหมาย จนกระทั่งพวกเขากลายเป็นลูกค้าประจำ การเข้าใจ Customer Journey จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีและต่อเนื่องให้กับลูกค้าในทุกขั้นตอนของการซื้อขาย
5 ขั้นตอนของ Customer Journey รูปแบบดั้งเดิมที่เป็นเส้นตรง
1.Awareness (การรับรู้)
ในขั้นตอนแรกของ Customer Journey ลูกค้าจะเริ่มรับรู้ถึงแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ของคุณ ผ่านช่องทางการตลาดต่างๆ การสร้างการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพเป็นก้าวแรกในการดึงดูดความสนใจของลูกค้า
2.Consideration (การพิจารณา/ตัดสินใจ)
ขั้นตอนการพิจารณาใน Customer Journey คือช่วงที่ลูกค้าจะเปรียบเทียบตัวเลือกและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อ การให้ข้อมูลที่ชัดเจนและมีคุณค่าจะช่วยในการตัดสินใจของลูกค้า
3.Purchase (การซื้อสินค้า)
เมื่อถึงขั้นตอนการซื้อใน Customer Journey ลูกค้าได้ตัดสินใจเลือกสินค้าหรือบริการและทำการซื้อจริง การทำให้กระบวนการซื้อเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกไร้รอยต่อระหว่างช่องทางการซื้อไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือหน้าร้าน จะเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
4.Retention (การใช้ซ้ำ)
ในขั้นตอนการใช้ซ้ำของ Customer Journey ลูกค้าจะกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอีกครั้ง การสร้างประสบการณ์ที่ดีและการบริการที่ตรงกับความสนใจลูกค้าแต่ละราย จะช่วยให้ลูกค้าพอใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ
5.Advocacy (การบอกต่อ)
ขั้นตอนสุดท้ายใน Customer Journey คือการบอกต่อ เมื่อลูกค้าพอใจกับแบรนด์แล้ว ลูกค้าอาจแนะนำแบรนด์ของคุณให้กับเพื่อน หรือคนอื่นๆ การสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมจะกระตุ้นให้ลูกค้ากลายเป็นผู้สนับสนุนและบอกต่อแบรนด์ของคุณ
5A theory คืออะไร
5A Theory ของ Dr. Philip Kotler เป็นทฤษฏีที่กล่าวถึงกระบวนการ Customer Journey รูปแบบใหม่ โดยได้อัปเดตขั้นตอนของ Customer Journey ลูกค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าในยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการเพิ่มขั้นตอนการดึงดูดความสนใจ (Appeal) และการสอบถาม (Ask) เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการ Customer Journey รูปแบบใหม่
Customer Journey ตามทฤษฎี 5A ของ Philip Kotler (Source : activecampaign)
- Aware (การรับรู้) - ลูกค้าเริ่มรู้จักแบรนด์ผ่านการตลาดและโฆษณา
- Appeal (การดึงดูด) - ลูกค้ารู้สึกสนใจและดึงดูดสิ่งที่แบรนด์นำเสนอ
- Ask (การสอบถาม) - ลูกค้าค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ
- Act (การดำเนินการ) - ลูกค้าตัดสินใจซื้อและดำเนินการซื้อสินค้า
- Advocate (การบอกต่อ) - ลูกค้าที่พอใจจะแนะนำแบรนด์ให้ผู้อื่น
Customer Journey แบบใหม่ล่าสุด จะไม่ใช่รูปแบบเส้นตรงอีกต่อไป
Customer Journey หรือเส้นทางการเดินทางเข้าหาแบรนด์ของลูกค้าเวอร์ชันใหม่ล่าสุด จะไม่ใช่เส้นทางในรูปแบบเส้นตรงอีกต่อไป แต่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่เป็นระเบียบแบบแผน (Capturly, 2021) เนื่องจากการตัดสินใจซื้อในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นในเส้นทางที่เรียบง่ายเหมือนในอดีต ลูกค้าอาจต้องเข้าออกหาแบรนด์ A สลับแบรนด์ B และแบรนด์ C ไปมาโดยผ่านทั้งโฆษณา สัมมนา โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ อีเมล บล็อก และช่องทางอื่น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ การตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่พบได้น้อยมาก ยกเว้นในกรณีของสินค้าบริโภคทั่วไป (Low-involvement product) ที่ไม่ต้องอาศัยการตัดสินใจที่มีความรอบคอบมากนัก
เปรียบเทียบ Customer Journey รูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบล่าสุด (Source : Capturly)
การใช้เส้นทางการตลาดแบบดั้งเดิมอาจไม่เหมาะสมในการแสดง Customer Journey หรือเส้นทางการเดินทางของลูกค้า เนื่องจาก Customer Journey แบบดั้งเดิมไม่สามารถสะท้อนถึงประสบการณ์ตามความเป็นจริงของลูกค้าที่ไม่เป็นเส้นตรง ลูกค้าอาจเข้ามา ออกไป กลับมา หรือหยุดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของ touchpoint ของแบรนด์ได้ทุกเมื่อ
การมองและทำความเข้าใจ Customer Journey ในรูปแบบที่ไม่เป็นเส้นตรง จึงช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับกลยุทธ์การตลาดและปรับปรุงการบริการในแต่ละ touchpoint ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
Customer Journey Mapping คืออะไร
เพื่อวางแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับพฤติกรรมลูกค้าที่ซับซ้อนและการเข้าหาแบรนด์จากหลากหลาย touchpoint และช่องทางของลูกค้า ธุรกิจจึงจำเป็นต้องออกแบบ "แผนที่การเดินทางของลูกค้า" หรือ Customer Journey Mapping ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการมองเห็นและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลาและจุดสัมผัส (Touchpoint) ต่าง ๆ
ตัวอย่างการสร้าง Customer Journey Mapping แบบล่าสุด (Source : Miro)
การสร้าง Customer Journey Mapping ช่วยให้แบรนด์สามารถมองเห็นภาพรวมของการเดินทางของลูกค้า และหาโอกาสในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าในแต่ละช่วงของเส้นทาง ดังต่อไปนี้
- เชื่อมต่อแต่ละ touchpoint และช่องทางของลูกค้า: ทำความเข้าใจวิธีการที่ลูกค้าโต้ตอบกับแบรนด์ผ่านช่องทางต่างๆ และสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ ไม่ว่าลูกค้าจะเข้าหาแบรนด์จากช่องทางออนไลน์ หรือหน้าร้าน
- สร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล: ออกแบบประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้า
- ปรับกลยุทธ์การตลาดและการขายให้เหนือชั้น: ทำให้ทีมการตลาดและการขายทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นโดยใช้ข้อมูลลูกค้าที่เก็บรวบรวมจากหลากหลายแหล่ง
- เปรียบเทียบประสบการณ์กลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง: วิเคราะห์ความแตกต่างในประสบการณ์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
ทั้งนี้ธุรกิจยังสามารถเลือกใช้เครื่องมือ MarTech สำหรับการตลาดอัตโนมัติอย่าง MAAC เพื่อสร้าง Customer Journey Mapping หรือแผนที่การเดินทางของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนในการทำและวิเคราะห์ Customer Journey Mapping
ตัวอย่างการสร้าง Customer Journey Mapping (Source:Ux collective)
1. กำหนดวัตถุประสงค์และขอบเขต
เริ่มต้นโดยการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น การเข้าใจประสบการณ์ของลูกค้าในขั้นตอนการซื้อ หรือการปรับปรุงประสบการณ์การใช้บริการ
2. รวบรวมข้อมูลลูกค้า
ใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากการสำรวจลูกค้า การสัมภาษณ์ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับพฤติกรรมและประสบการณ์ของลูกค้า
3. สร้าง Persona
ออกแบบ Persona หรือโปรไฟล์ของลูกค้า เพื่อเข้าใจลักษณะและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ ความสนใจ และพฤติกรรมการซื้อ
4. ระบุ Touchpoints
ระบุทุกจุดที่ลูกค้าจะมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ร้านค้า หรือบริการหลังการขาย รวมถึงระยะเวลาที่ใช้และความรู้สึกที่ต้องการให้ลูกค้ามีต่อแบรนด์ในแต่ละจุด
5. สร้างแผนที่การเดินทางของลูกค้า Customer Journey Mapping
ใช้ข้อมูลที่รวบรวมเพื่อสร้างแผนที่การเดินทางของลูกค้า แสดงถึงแต่ละขั้นตอนและจุดที่ลูกค้าจะมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ รวมถึงความรู้สึกและความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วง
6. วิเคราะห์ Customer Journey Mapping และหาช่องทางปรับปรุง
วิเคราะห์ Customer Journey Mapping หรือแผนที่การเดินทางเพื่อหาจุดที่ลูกค้าประสบปัญหาหรือไม่พอใจ และระบุช่องโหว่ในการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า
7. ดำเนินการปรับปรุงและทดสอบ
ปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าตามผลการวิเคราะห์ และทดสอบเพื่อประเมินผลลัพธ์ที่ได้
8. ติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ติดตามผลการปรับปรุงและรวบรวมข้อมูลใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุง Customer Journey Mapping และประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
Persona คืออะไร แตกต่างจาก Customer Journey Mapping อย่างไร
Persona คือ โปรไฟล์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน โดยปกติจะสร้างจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า เช่น ข้อมูลประชากร พฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ พฤติกรรมการซื้อ เป้าหมาย ความต้องการ ปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจซื้อ ฯลฯ การสร้าง Persona จะช่วยให้แบรนด์เข้าใจและมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้การทำ Persona จะทำเพื่อเข้าใจลักษณะและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ช่วยให้รู้จักลูกค้าในเชิงลึกและสามารถออกแบบกลยุทธ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มนั้น ๆ
แตกต่างจาก Customer Journey Mapping ที่ใช้เพื่อแสดงเส้นทางการเดินทางของลูกค้าตั้งแต่การรับรู้แบรนด์จนถึงการตัดสินใจซื้อและการบอกต่อ การสร้าง Customer Journey Mapping จะมุ่งเน้นให้ธุรกิจเห็นภาพรวมของประสบการณ์ของลูกค้าตลอดเส้นทาง
สรุป
ในยุคที่โลกธุรกิจยุคดิจิทัลมีความหลากหลาย ซับซ้อน และมีความคาดหวังของผู้บริโภคที่สูงขึ้น การนำแนวทางที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) มาใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะชนะใจลูกค้า การใช้เครื่องมืออย่าง Customer Journey และ Customer Journey Map จะช่วยให้แบรนด์สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังช่วยตัดข้อมูลรบกวนลูกค้าที่ไม่จำเป็น และเพิ่มคุณค่าในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ธุรกิจยังสามารถเลือกใช้เครื่องมือ MarTech สำหรับการตลาดอัตโนมัติเพื่อสร้าง Customer Journey Mapping หรือแผนที่การเดินทางของลูกค้าได้อย่างเหนือชั้นยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ MAAC เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดโดยอัตโนมัติ และ CAAC ระบบรวมแชท และเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพทางการขาย ซึ่งจะช่วยจัดเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาสร้าง Customer Journey และ Customer Journey Map ได้อย่างรอบด้าน รวมไปถึงต่อยอดในการสร้าง persona และการแบ่งกลุ่มลูกค้าด้วย Customer 360 จากเครื่องมือ MAAC และ CAAC ของทาง Crescendo Lab ได้อีกด้วย
FAQ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Customer Journey
การปรับปรุง Customer Journey ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าในยุคดิจิทัลต้องทำอย่างไร?
การปรับปรุง Customer Journey ในยุคดิจิทัลต้องเริ่มจากการศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ธุรกิจควรใช้ข้อมูลและเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อระบุแนวโน้มและความต้องการใหม่ ๆ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น แชทบอท การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มออนไลน์ จะช่วยให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อะไรคือข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการวางกลยุทธ์ Customer Journey และวิธีหลีกเลี่ยง?
ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยได้แก่ การไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า การละเลยจุดสัมผัส หรือ Touchpoint สำคัญในเส้นทางของลูกค้า และการไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด วิธีหลีกเลี่ยงคือการทำ market research ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และมีความยืดหยุ่นในการปรับปรุงกลยุทธ์ตามข้อมูลและสถานการณ์ใหม่ ๆ
เราจะสามารถวัดผลและปรับปรุง Customer Journey ได้อย่างไรในระยะยาว?
การวัดผลสามารถทำได้โดยการตั้งค่าตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง เช่น
-ระดับความพึงพอใจของลูกค้า Customer Satisfaction Score (CSAT)
-อัตราการกลับมาซื้อซ้ำ
-เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน
-อัตราการซื้อ (Conversion rate)
-อัตราการคืนสินค้า (Return rate)
-Net Promoter Score (NPS)
-Lifetime Value (LTV)
การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุจุดที่ต้องปรับปรุง การปรับปรุงควรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลจริงเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและพัฒนา Customer Journey ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สนใจเครื่องมือ Martech ช่วยทำ Automated Customer Journey ด้วย AI ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญฟรี!
CherryNapat
I'm a Thai senior marketing specialist, working for a startup company in Taiwan.